#Sokochan เคยนำเสนอเรื่อง Customer Journey ไปแล้วนะคะ ที่ว่าการเดินทางของลูกค้าเพื่อตัดสินใจซื้อสินค้าของเรานั้นมี 5 ขั้นคือ

 

1.สร้างการรับรู้ให้รู้จักสินค้าของเรา

2.ผู้ซื้อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม แบรนด์ก็ต้องสนับสนุน

3.การซื้อ ทำให้ง่ายที่สุด น่าเชื่อถือที่สุด

4.การสนับสนุน ทำให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าซื้อของดีมา จนทำให้เกิดความจงรักภักดี

5.การซื้อซ้ำ แจ้งข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า

 

ที่นี้มีของอยู่กลุ่มหนึ่งค่ะที่ความรู้สึกระหว่างการเลือกซื้ออาจมีความสุขมากกว่าตอนที่ซื้อสินค้าไปแล้วก็ได้ ของกลุ่มนั้นคือ สินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าที่เล่นกับอารมณ์ พวกของแพงๆ ที่ก็ไม่ได้จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน หรือซื้อจนเกินความจำเป็นแล้ว แต่เป็นของที่ซื้อเพื่อความสุขทางใจ เช่นกระเป๋า รองเท้า นาฬิกา เสื้อผ้า รถแพงๆ หรือ Gadget ไฮเทคต่างๆ

 

ในขณะที่สินค้าจำเป็นคือสินค้าที่ซื้อมาแล้วได้ใช้เป็นประจำ หรือได้ใช้จนหมดไปแล้วซื้อใหม่ แต่สินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าที่เล่นกับอารมณ์คือสินค้าที่ซื้อมาแล้วไม่ค่อยได้ใช้ เน้นไปทางตั้งโชว์ สร้างความสุขทางใจว่าเราเป็นเจ้าของสินค้าราคาแพงหรือสินค้า Limited ต่างๆ ซึ่งความสุขในการซื้อของประเภทนี้จะอยู่ในช่วงที่เรายังไม่มีสินค้านี้อยู่กับตัว ช่วงเวลาที่เราหายใจเข้าออกเป็นของชิ้นนี้ คิดคำนึงถึงตลอดเวลาว่าอยากได้ นั่งดูรีวิววนไปเรื่อยๆ และมีความสุขสูงสุดในวันที่เราได้เป็นเจ้าของ แล้วหลังจากนั้นความสุขก็จะค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ ค่ะ เพื่อที่เราจะได้ไปตื่นเต้นกับของชิ้นอื่นๆ ใหม่

 

เรื่องนี้เกิดได้กับทุกคนนะคะ ซึ่งถ้าซื้อของประเภทนี้เยอะมากพอก็จะเข้าใจได้เองว่า ไม่ต้องรีบซื้อก็ได้ เก็บความสุขให้อยู่กับเราเอาไว้นานๆ อีกหน่อย แล้วสุดท้ายอาจจะไม่ต้องซื้อเลยเมื่อมีของชิ้นใหม่ที่น่าสนใจเข้ามาแทน

 

แต่ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการที่ขายสินค้าเชิงอารมณ์ แล้วเราต้องการเร่งให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อไวขึ้นจะทำอะไรได้บ้าง ก็ทำได้ทั้งแจ้งความต้องการของตลาด เช่นถ้าเป็นสินค้า Limited ที่มีจำกัดจำนวน ก็ให้รายละเอียดที่ชัดเจนว่าความต้องการของตลาดเป็นอย่างไร หรือทำโปรโมชัน/สิทธิพิเศษสำหรับการตัดสินใจซื้อในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อเร่งการตัดสินใจ หรือมีการนับถอยหลังก่อนที่สินค้าจะขึ้นราคาไปขายในอีกราคาหนึ่ง ตามจำนวนสต็อกที่ลดลงและความหายากที่เพิ่มขึ้นค่ะ

 

รู้แบบนี้แล้ว ถ้าเป็นฝั่งผู้ซื้อ การซื้อของฟุ่มเฟือยจะสนุกที่สุดตอนเลือกซื้อ ตอนคาดหวังว่ามันจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความสนุกมันจะลดลงเมื่อเราได้เป็นเจ้าของ ก็เลือกซื้อให้เหมาะกับกำลังทรัพย์ตัวเองนะคะ ของแบบนี้ควรซื้อเงินสด หรือจ่ายเต็มจำนวน ถ้าอยากได้แล้วยังต้องผ่อนจ่าย ก็ข้ามไปก็ได้ มันไม่ได้จำเป็นต่อชีวิตมากขนาดนั้น

 

ส่วนฝั่งผู้ขาย ของแบบนี้มีเวลา มีเทรนด์ มีข้อจำกัดแลกเปลี่ยนที่ต้องเกาะกระแสให้ดี ถ้าไม่อยากพลาดจนต้นทุนจมนะคะ