Blog หรือ Weblog นั้นเป็นงานเขียนบนโลกอินเทอร์เน็ตที่เราได้อ่านบ่อยที่สุดแบบหนึ่งนะคะ ลักษณะของมันจะเป็นการเล่าเรื่อง หรือแชร์ความรู้อย่างไม่เป็นทางการ หรือหลายคนก็เขียนเป็นไดอารี่แบบเปิดให้ทุกคนอ่านได้ก็เป็นบล็อกแบบหนึ่งเหมือนกัน แต่องค์กรชั้นนำมากมายก็มีบล็อกของบริษัทที่เปิดให้ทุกคนอ่านเช่นกัน ซึ่ง #Sokochan ว่าเรามีเวลา หรือพอจัดสรรคนในทีมให้เขียนบล็อกลงสื่อของบริษัทได้ก็เป็นเรื่องดีเลย และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรเขียนบล็อกในสื่อบริษัทค่ะ
1.แสดงความเชี่ยวชาญเฉพาะขององค์กร
ปกติในเว็บอย่างเป็นทางการก็จะมีภาพรวมบริษัท รายละเอียดสินค้าและบริการ ช่องทางติดต่อต่างๆ เป็นพื้นฐานอยู่แล้วใช่ไหมคะ จริงอยู่ว่าเนื้อหาแบบเป็นทางการเหล่านี้ก็สามารถแสดงความเชี่ยวชาญขององค์กรได้ แต่เชื่อโซโกะจังเถอะว่าการเขียนบล็อก เล่าเรื่องในลักษณะบทความที่ไม่เป็นทางการนั้นช่วยเสริมภาพลักษณ์ความเชี่ยวชาญเฉพาะขององค์กรได้ดียิ่งขึ้นไปอีกค่ะ
สมมุติว่าบริษัทเราทำธุรกิจขายเสื้อผ้าอยู่ แล้วเราเขียนบล็อกเล่าเทคนิคการดูแลเนื้อผ้าชนิดต่างๆ หรือเทคนิคการเลือกชนิดผ้าให้เหมาะกับงานที่จะเอาไปใช้ โดยอิงประสบการณ์ตรงในบริษัท ถ้าเนื้อหาดีจริง ผู้อ่านจะเกิดความศรัทธา และติดตามงานเขียนบล็อกของบริษัท ซึ่งจะสร้างภาพลักษณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นๆ ขององค์กรเราได้ด้วยค่ะ
2.เพิ่มความลึกของเนื้อหาในองค์กร
นอกจากบล็อกจะแสดงความเชี่ยวชาญเฉพาะขององค์กรแล้ว ยังเสริมความลึกให้กับเนื้อหาของบริษัทได้ด้วยนะคะ ด้วยลักษณะของบล็อกที่เป็นเหมือนไดอารี่ ที่เขียนอัปเดตได้เรื่อยๆ แล้วแต่ละบทความก็จะลงบันทึกเวลาไว้ว่าเผยแพร่เมื่อไหร่ ทำให้เราสามารถเสริมเนื้อหาให้เว็บได้ง่ายกว่าเติมเข้าไปในเว็บหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะปรับปรุงเมื่อมีผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือมีรายละเอียดใหม่ๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เข้ามาเท่านั้น ไม่สามารถอัปเดตเรื่องราวทันกระแสได้เท่าไหร่ค่ะ ซึ่งการเขียนบล็อกนั้นไม่ได้จำกัดแค่การเขียนลงเว็บนะคะ ถ้าเราจะเอาสิ่งที่ลงเว็บมาเผยแพร่เป็นบทความในสื่ออย่างเฟซบุ๊กด้วย ก็อาจจะได้รับผลตอบรับที่ดีก็ได้นะ
3.เพิ่มความกว้างของเนื้อหา ให้ค้นเจอง่ายขึ้น
สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างเว็บให้ค้นเจอง่ายขึ้นจาก Google คือเราต้องมีเนื้อหามากพอ ถ้าเว็บเรามีเนื้อหาอยู่ไม่กี่หน้า และเป็นเนื้อหาแบบเป็นทางการเท่านั้น โอกาสที่จะค้นเจอจากกูเกิ้ลก็จะน้อยลง เหลือแค่คีย์เวิร์ดเฉพาะเช่นชื่อแบรนด์เท่านั้นถึงจะหาเจอ แต่ถ้าเรามีเนื้อหาในบล็อกมากขึ้น ฐานเรื่องราวในเว็บของเราก็จะกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ
เช่นเว็บธุรกิจเสื้อผ้าที่เรายกตัวอย่างในข้อที่ 1 ถ้าไม่ได้เขียนบล็อก โอกาสที่จะค้นเว็บนี้เจอก็ยากมาก โอกาสที่คนจะเข้าเว็บได้ก็มาจากคนที่ค้นหาชื่อแบรนด์เท่านั้น แต่ถ้าเราเขียนบล็อกความรู้ เทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับผ้า ก็มีโอกาสที่คนจะค้นเรื่องผ้า เทคนิคดูแลผ้า ฯลฯ ที่เป็นเรื่องทั่วไป แต่ผลการค้นหามาแสดงที่เว็บเรา ทำให้คนเข้าเว็บเรามากขึ้น และมีโอกาสที่คนจะกดดูว่าเว็บนี้เป็นของใคร ทำให้คนจดจำแบรนด์ได้มากขึ้นค่ะ
หรือพูดอีกอย่างว่าการเขียนบล็อกสามารถสร้างประตูใหม่ๆ สู่เว็บเราเพิ่ม หรือคนค้นหาในเฟซบุ๊กก็มีโอกาสเจอเราได้มากขึ้นเช่นกัน
4.สร้างภาพลักษณ์เข้าถึงง่าย
ธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่ชอบอ่านอะไรที่เป็นทางการนานๆ นะคะ มันอ่านแล้วเหนื่อย รู้สึกอ่านไปเกร็งไป ซึ่งงานเขียนในลักษณะบล็อกที่มีความเป็นกันเองมากกว่า เหมือนเขียนไว้ให้เพื่อนอ่าน ก็สร้างภาพลักษณ์ที่เข้าถึงง่ายให้กับองค์กรด้วย ก็ทำให้ผู้คนรู้สึกสะดวกใจที่จะติดต่อคุยกับเรามากขึ้น
5.ส่งเสริมตัวบุคลากรในบริษัท
ปกติงานเขียนบล็อกนั้นจะมีการระบุชื่อผู้เขียนเป็นตัวบุคคลด้วยนะคะ เพื่อสร้างความเป็นกันเองให้งานเขียนมากขึ้น ผู้อ่านที่รู้ว่าผู้เขียนเป็นใคร ก็คาดหวังได้ว่าเนื้อหาน่าจะออกมาประมาณไหน ซึ่งก็เป็นการส่งเสริมตัวบุคลากรในบริษัทด้วย ทั้งสร้างเสริมทักษะการเล่าเรื่องให้ทีมงาน หากว่ามีการสลับหมุนเวียนผู้เขียนกันเรื่อยๆ หรือสร้างเสริมให้ผู้อ่านรู้จักบุคลากรในบริษัท ทำให้นอกจากบริษัทของเราจะได้รับความสนใจมากขึ้น ตัวบุคคลเองก็ได้รับความสนใจมากขึ้น ก็เสริมความก้าวหน้าระหว่างกันได้ค่ะ
รู้แบบนี้แล้ว ลองเอาความรู้เฉพาะในองค์กรของคุณ มาเขียนให้โลกเห็นผ่านบล็อกันดีกว่าค่ะ!